ไข้หวัดนก (Bird Flu, Avian Flu) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอที่เกิดขึ้นในสัตว์ปีก เชื้อไวรัสไข้หวัดนกส่วนใหญ่ไม่สามารถแพร่เชื้อสู่คนได้ เว้นแต่เชื้อไวรัสไข้หวัดนก 2 สายพันธุ์ที่เคยพบการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนจนทำให้เกิดการระบาด ได้แก่
สายพันธุ์ H5N1 พบการระบาดในประเทศไทยครั้งแรกปี พ.ศ. 2547 และมีการระบาดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศจีนและฮ่องกง
สายพันธุ์ H7N9 พบการระบาดในประเทศจีน ปี พ.ศ. 2556 แต่ไม่พบการระบาดในประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีไข้หวัดนกสายพันธุ์อื่น ๆ ได้แก่ H7N7, H9N2, H6N1, H10N8 และ H5N6 ที่พบว่าสามารถระบาดสู่คนได้ แต่ก็เกิดขึ้นได้น้อย และก็มีน้อยที่เป็นสาเหตุของอาการป่วยที่รุนแรง
อาการของไข้หวัดนก
ไข้หวัดนกเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มีระยะเวลาในการฟักตัวของเชื้อก่อนแสดงอาการอยู่ที่ประมาณ 3-5 วัน ทั้งนี้หากเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H5N1 อาจใช้เวลาฟักตัวได้ถึง 17 วัน ในขณะที่สายพันธุ์ H7N9 จะใช้เวลา 1-10 วัน แต่โดยปกติแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยในช่วงที่เชื้อฟักตัวจะยังไม่มีอาการใด ๆ แต่หากเข้าสู่ระยะแสดงอาการแล้ว อาการทั่วไปที่พบได้คือ
มีไข้สูง
ปวดกล้ามเนื้อ
ปวดศีรษะ
มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หรือมีน้ำมูกไหล
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเริ่มแรกอื่น ๆ เช่น ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง เจ็บหน้าอก มีเลือดออกตามไรฟัน มีเลือดกำเดาไหล หรือมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน นอกจากนี้มีผู้ป่วยจำนวนมากที่้ในช่วงต้น ๆ จะพบอาการที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจส่วนล่าง อย่างเช่น หายใจลำบาก เสียงแหบแห้ง และมีเสียงครืดคราดเวลาที่หายใจ มีเสมหะ บางรายอาจมีเลือดปนออกมาในเสมหะด้วย
สาเหตุของไข้หวัดนก
ไข้หวัดนกเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากสัตว์ปีก ไม่ว่าจะเป็นนก ไก่ เป็ด ไก่ง่วง หรือห่าน ทั้งที่เกิดตามธรรมชาติหรือถูกเลี้ยงในโรงเรือน โดยการติดเชื้อในสัตว์ปีกที่เลี้ยงในระบบปศุสัตว์ อาจเกิดขึ้นในขณะการขนส่ง หรือตามสถานที่ที่มีการขายสัตว์ปีก ซึ่งสัตว์ปีกที่ติดเชื้ออาจไม่มีการแสดงอาการใด ๆ และดูเหมือนเป็นสัตว์ปีกที่มีสุขภาพที่ดี แต่แต่สัตว์เหล่านี้ก็ยังสามารถแพร่เชื้อให้กับมนุษย์ได้ผ่านการสัมผัส ทั้งนี้ โรคไข้หวัดนกสามารถเกิดกับคนได้ทุกเพศทุกวัย เชื้อไวรัสจะส่งผ่านอุจจาระและสารคัดหลั่งของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ หากผู้ป่วยสัมผัสกับอุจจาระหรือสารคัดหลั่งที่มีเชื้อ หรือหายใจเอาเชื้อเข้าร่างกาย ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ทว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกส่วนใหญ่แล้วจะติดจากสัตว์สู่คน แต่ก็มีกรณีน้อยมากที่จะติดเชื้อจากคนสู่คน เนื่องจากการติดเชื้อจากคนสู่คนจะต้องมีการสัมผัสที่ใกล้ชิดมาก ๆ จึงจะสามารถติดต่อกันได้ ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ติดเชื้อไข้หวัดนก ได้แก่
การสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ
การสัมผัสกับสารคัดหลั่ง หรืออุจจาระของสัตว์ปีกโดยตรง
อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก
อยู่ในสถานที่ขายสัตว์ปีก ไข่ หรือซากสัตว์ปีกที่มีการรักษาอนามัยที่ไม่ดีพอ
นอกจากนี้การรับประทานสัตว์ปีก หรือไข่ของสัตว์ปีกโดยไม่ผ่านการปรุงสุก ก็ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกได้ โดยเนื้อสัตว์ปีกที่ปลอดภัยคือเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกด้วยความร้อน 74 องศาเซลเซียสขึ้นไป ส่วนไข่ของสัตว์ปีก เช่น ไข่ไก่ หรือไข่เป็ดควรปรุงจนกว่าไข่ขาวและไข่แดงจะสุก
การรักษาไข้หวัดนก
ไข้หวัดนก สามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยเมื่อแพทย์วินิจฉัยได้อย่างแน่ชัดแล้วว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก แพทย์จะให้ผู้ป่วยรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยแยกผู้ป่วยออกจากผู้ป่วยคนอื่น ๆ และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาการของไข้หวัดนกค่อนข้างรุนแรง อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งนี้ในช่วงรักษาตัว แพทย์จะแนะนำให้พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ และรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อลดอาการไข้และอาการปวด ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัส ยาที่แพทย์มักใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดนก ได้แก่
ยาโอเซทามิเวียร์ (Oseltamivir)
ยาซานามิเวียร์ (Zanamivir)
ยาทั้ง 2 ชนิดนี้จะถูกใช้เพื่อลดความรุนแรงของอาการ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต โดยยาเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงหากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากอาการเริ่มแสดง แต่ในกรณีของไข้หวัดนก ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าจะเป็นเช่นเดียวกันหรือไม่ ดังนั้นควรได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด แม้จะเลยจาก 48 ชั่วโมงแรกหลังแสดงอาการก็ตาม
วิธีป้องกันไข้หวัดนก
วิธีป้องกันไข้หวัดนกที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์ปีกทุกชนิด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสกับสัตว์ปีก นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงเข้าไปในสถานที่ที่มีสัตว์ปีก และไม่ควรรับประทานเนื้อหรือไข่ของสัตว์ปีกที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุกด้วยอุณหภูมิ 74 องศาเซลเซียสขึ้นไป หากต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด และมีประวัติว่าเคยสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจให้รับประทานยาต้านไวรัสเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อ โดยวิธีนี้ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ 70-90%
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไข้หวัดนกจะเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ แต่การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก็ไม่สามารถป้องกันโรคได้ ทำได้แค่เพียงลดความเสี่ยงในการติดเชื้อร่วมหากป่วยด้วยไข้หวัดนก ทั้งนี้ในประเทศไทย วัคซีนป้องกันไข้หวัดนกนั้นยังไม่มีรับรองเพื่อใช้ในการป้องกันโรคไข้หวัดนกในคนทั่วไป